Thursday, December 06, 2007

อย่าถลุงเทคโนโลยีและพลังงานจนเพลิน

เมื่อพิจารณาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและพลังงาน การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นหน่วยผลิตในทางเศรษฐกิจ มีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีและพลังงานได้ในระดับหนึ่ง การดำเนินธุรกิจด้วยความมีเหตุผล ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน โดยอาศัยเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ก็จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในแต่ละภาคส่วนสามารถเลือกระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและพลังงานจากต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้ประเมินสถานภาพด้านเทคโนโลยีไว้ว่า มีกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำงานด้านการออกแบบและการวิจัยและพัฒนาไม่ถึงร้อยละ 2.0 และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมีเพียง 6.7 คนต่อประชากรหมื่นคน ขณะที่ผลิตภาพของการผลิตรวมคิดเป็นร้อยละ 1.89 ในปี 2548 ซึ่งถือว่ายังต่ำ

ส่วนสถานภาพด้านพลังงาน ระบุว่าอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานต่ออัตราการเติบโตของ GDP (ความยืดหยุ่นของการใช้พลังงาน) มีค่าเท่ากับ 1.4 และมีการตั้งเป้าการลดค่าความยืดหยุ่นให้อยู่ในระดับ 1.0 ประเด็นวิกฤติที่รวบรวมได้จากการระดมสมองเพื่อจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ประการแรก ประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนระดับกลางโดยเฉพาะสายอาชีวะและระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ทั้งปริมาณและคุณภาพ ฉุดรั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ประการที่สอง การลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ในระดับต่ำ องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาแล้วนำไปใช้ประโยชน์ ในเชิงพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ ความสามารถในการซึมซับเทคโนโลยี (Technology Absorption) อยู่ในระดับต่ำและตกเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า

และประการที่สาม เศรษฐกิจไทยยังมีจุดอ่อนในเชิงโครงสร้างที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน พลังงาน เงินทุน และเทคโนโลยี ในสัดส่วนที่สูง โดยที่ผลิตภาพการผลิตยังต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงจากการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด นอกจากนี้ ลักษณะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีการเพิ่มมูลค่าเพียงในระดับต้น เป็นการรับจ้างผลิตโดยที่ไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง การสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการและการเพิ่มผลิตภาพการผลิตจากองค์ความรู้ยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้วยประเด็นวิกฤติข้างต้น กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันด้านเทคโนโลยี จึงควรเน้นไปที่การทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในภาคการผลิตที่ประเทศไทย มีศักยภาพและสอดคล้องกับฐานทรัพยากรของประเทศ เช่น หมวดเกษตร-เกษตรอินทรีย์ หมวดอาหาร-อาหารแปรรูป หมวดยา-สมุนไพร ซึ่งรวมไปถึงพลังงานทางเลือก เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต อีกทั้ง ควรเน้นการพัฒนาคนเพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น และมีการเชื่อมงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษากับภาคเศรษฐกิจจริงให้เกิดขึ้นให้ได้

การบริหารจัดการความรู้นับเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งเช่นกัน เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีบทบาทในการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ ความสะดวกในการบริหารจัดการ และการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้หรือเครือข่ายต่างๆ จะสามารถช่วยให้เทคโนโลยีการผลิตในท้องถิ่นหนึ่งถ่ายทอดไปยังท้องถิ่นอื่นๆ ได้

กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันด้านพลังงาน ในมิติของการลดการใช้พลังงาน (ทำให้ตัวตั้งในค่าความยืดหยุ่นของการใช้พลังงานต่ำลง) ควรเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือหาพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกอื่นๆ ส่งเสริมให้มีการจัดทำ Energy Index เพื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานในการผลิตกับประเทศอื่นๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม ในมิติของการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ (ทำให้ตัวหารในค่าความยืดหยุ่นของการใช้พลังงานสูงขึ้น) ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการในประเทศที่ใช้พลังงานน้อย แต่มีมูลค่าเพิ่มสูง และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนการลงทุนจากภายนอกในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพืช มีประเด็นที่ต้องระวัง เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชพลังงานอาจไปแย่งการปลูกพืชอาหารอื่นๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานควบคู่กันไป

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ควรลดการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในการผลิตที่จำเป็นต้องใช้พลังงานสูง เพราะไทยเองก็ต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากภายนอก ทำให้รัฐต้องอุดหนุนการใช้พลังงานให้กับบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นไปโดยปริยาย นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังสามารถดำรงบทบาทเป็นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ลงทุนระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม เพื่อขยายฐานการผลิตของไทย ให้เกิดความสมดุลระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ ซึ่งการรับบทบาทนี้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบร่วมด้วย

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรเข้มข้น (เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า) อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (เช่น สิ่งทอ และภาคบริการ) และอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศเข้มข้น (เช่น สินค้าเกษตร อาหารและเกษตรแปรรูป สมุนไพร) ล้วนแต่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อัตราการเปิดประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้น โดยในปี 2548 อัตราการเปิดประเทศสูงถึงร้อยละ 131.7

แนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย จึงมิใช่การพยายามปิดประเทศ แต่เป็นการจัดการทรัพยากรในภาคธุรกิจ การบริหารการบริโภคในภาคครัวเรือน รวมไปถึงการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและกระแสโลกาภิวัตน์ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดการเทคโนโลยีและพลังงานในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ... (จากคอลัมน์ พอเพียงภิวัตน์) External Link

No comments: