Thursday, May 28, 2015

จับตาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สัปดาห์ที่แล้ว (พุธ 20 พ.ค. 2558) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP), องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) และ สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอสแคป (EBAC) ได้ร่วมกันจัดงาน Regional Conference on Aligning Corporate Sustainability with Sustainable Development Goals ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมุ่งเป้าผู้เข้าร่วมประชุมไปที่ภาคเอกชน เพื่อรวบรวมสถานภาพการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำหรับเป็นข้อมูลนำเข้าสู่การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล

สืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี พ.ศ.2555 ที่ชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ให้ความเห็นชอบในเอกสารผลลัพธ์การประชุม ที่มีชื่อว่า “The Future We Want” และการเปลี่ยนผ่านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่งสิ้นสุดลงในปีนี้ ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งจะเริ่มต้นใช้ในปีนี้จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยระบุให้เป็นวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (Post-2015 Development Agenda)

สาระของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เสนอโดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open Working Group on SDGs) โดยประเทศไทยได้อยู่ในคณะทำงานด้วย ประกอบด้วยเป้าประสงค์ (Goal) จำนวน 17 ข้อ และเป้าหมาย (Target) จำนวน 169 ข้อ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การรับรองในการประชุมสุดยอดสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน ปีนี้

กองกิจการเพื่อการพัฒนา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดทำประเด็นที่ไทยควรให้ความสำคัญต่อวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ใน 4 ประเด็นไว้ ดังนี้

1) Ensuring sustainability วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประชาชนที่พ้นจากสภาวะยากจนแล้วต้องกลับไปเผชิญสถานะเดิม เนื่องจากไม่มีงานทำ ดังนั้น การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านการสร้างงาน โดยเฉพาะการสร้างงานที่มีคุณค่าจึงมีความสำคัญ รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาที่เน้นคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

ความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อม โดยหัวใจหลักคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่จะต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่จะเหลือไปถึงคนรุ่นหลัง นอกจากนั้น ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความมั่นคงทางด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน

2) Building resilience เป้าหมายด้านสุขภาพ เป็น MDGs ที่ยังคงไม่บรรลุและสำคัญต่อศักยภาพของมนุษย์ในการตอบสนองต่อสิ่งท้าท้ายใหม่ ๆ ดังนั้น ในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ควรมีประเด็นเรื่อง Universal Health Coverage ที่ไทยมีบทบาทนำและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประเทศอื่น

ประเด็นด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาภัยจากเหตุภัยพิบัติ เนื่องจากได้เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น ทำให้การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องชะงักหรือถดถอยลง ทั้งนี้ ไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตมหาอุทกภัยและสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำกับประเทศต่างๆ

3) Reducing inequality and promoting human rights การเข้าถึงคนจากทุกภาคส่วนในสังคมสำคัญต่อนโยบายที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการลดความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

รัฐจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ vulnerable groups โดยเฉพาะเด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งยังคงถูกละเลยอยู่มากและเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและลดความไม่เสมอภาค

4) Means of implementation การเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาล (good governance) และหลักนิติธรรม (rule of law) เป็นวิธีการนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน นอกจากนี้ จะไม่สามารถบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หากประเทศไม่มีความสงบสุขและสันติภาพ

การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ

ภาคเอกชนไทย ควรติดตามผลการประชุมและบทสรุปของวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำกรอบการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: