Wednesday, December 23, 2015

ปรับโจทย์ CSR ปี 59: ศักราช 'ความยั่งยืน'

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยการรับรองของชาติสมาชิก 193 ประเทศ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 เพื่อใช้เป็นทิศทางการพัฒนาที่นานาประเทศ รวมทั้งไทย จะใช้อ้างอิงนับจากนี้ไป จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า

ทำให้ ปี ค.ศ.2016 จะเป็นการเริ่มต้นศักราชแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีที่ 1 (A.D. 2016 = S.D. 1) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ที่ได้ประกาศใช้ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาในเรื่อง (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล


ภาคธุรกิจ จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่จำต้องมีการปรับโจทย์ใหม่ (Re-proposition) ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาพการณ์ทางสังคมที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม

ในประเทศไทย เงื่อนไขแรก ที่เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องปรับโจทย์ใหม่ เพื่อนำวิธีการที่ต่างจากเดิมมาใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม คือ การให้ (Philanthropy) ที่ทำให้ผู้รับอ่อนแอลง เป็นความช่วยเหลือที่ให้ผลตรงกันข้ามกับการสร้างความเข้มแข็ง และไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง (เทียบเคียงได้กับโครงการประชานิยมของภาครัฐ)


จาก Philanthropy สู่ Philanthropic Investments


เนื่องจากงบประมาณและทรัพยากรในฝั่งผู้ให้ ที่ไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด หรือสามารถจัดสรรให้ได้ตลอดกาล พร้อมกับเงื่อนไขที่ต้องการเปลี่ยนจาก ‘การให้แบบพึ่งพา’ มาเป็น ‘การให้แบบยั่งยืน’ เพื่อให้ฝั่งผู้รับเกิดความเข้มแข็ง และยืนอยู่บนขาตนเองได้ในที่สุด

ธุรกิจที่ดำเนินตามวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมุ่งแก้โจทย์ว่า ทำอย่างไร ผู้รับจึงจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในปลายทางของความช่วยเหลือที่งบประมาณ ทรัพยากร และระยะเวลา มีอยู่อย่างจำกัด

ที่ดีไปกว่านั้น คือ ธุรกิจสามารถนำงบประมาณและทรัพยากรที่ใช้ช่วยเหลือ คืนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อมอบให้แก่ผู้รอรับความช่วยเหลือรายอื่นๆ ต่อไป (ตรงกับแนวคิด Social Business ของมูฮัมหมัด ยูนุส)

ความช่วยเหลือในแบบ Philanthropy (การทำบุญสุนทาน) ที่เป็นการให้เปล่า โดยใช้เงินต้นทั้งก้อนไปในโครงการเดียว จึงควรได้รับการปรับโจทย์ใหม่ เป็นความช่วยเหลือในแบบ Philanthropic Investments (การลงทุนสุนทาน) ที่เป็นการใช้เงินต้นก้อนเดียวกันในโครงการ พัฒนาจนสัมฤทธิ์ผล และสามารถนำเงินต้นก้อนดังกล่าว กลับคืนเพื่อไปใช้ในโครงการอื่นต่อไป

ธุรกิจที่ให้ความช่วยเหลือในแบบ Philanthropic Investments สามารถจะเติมงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในแต่ละปี เพื่อพัฒนาโครงการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อพร้อมกัน ให้แก่ผู้รอรับความช่วยเหลือได้หลายกลุ่มหลายโครงการ ด้วยเงินงบประมาณก้อนเดิมที่ใช้หมุนได้หลายรอบ โดยไม่สูญเปล่า ไม่สะเปะสะปะ

เงื่อนไขประการต่อมา ที่เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องปรับโจทย์ใหม่ คือ การบริหารความคาดหวังที่มิได้มีเพียงเรื่องผลประกอบการหรือผลตอบแทนที่ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น (Shareholders) หรือการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องครอบคลุมไปถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของกิจการโดยรวม ที่เกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือการดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด (อาทิ การเลียนแบบสินค้าที่ผู้ค้ารายใหญ่มีอิทธิพลเหนือคู่ค้ารายย่อย)


จาก CG สู่ ESG


เนื่องจาก CG (Corporate Governance) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด กระนั้นก็ตาม องค์กรที่มี CG ดี อาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคม (License to operate) เพียงเพราะได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ประกอบกับในแวดวงผู้ลงทุนที่ตระหนักถึงการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับผลกระทบจากการประกอบการที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากผลตอบแทนที่ได้รับภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือที่เป็นไปตามกฎหมาย ผนวกรวมเข้าด้วยกันเป็นหลักการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็น ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งส่งผลต่อกิจการในแง่ของผลประกอบการที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลประกอบการทางการเงิน

คำเรียก ESG ถูกบัญญัตขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2547 ในเอกสารรายงานชื่อ “Who Cares Wins” ที่องค์การสหประชาชาติผลักดันให้มีการศึกษา และในปีถัดมา ได้ถูกพัฒนาเป็น “หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ” (Principles for Responsible Investment - PRI) ที่ในปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ถือสินทรัพย์ ให้การรับรองหลักการดังกล่าวกว่า 1,400 แห่ง มีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันกว่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ธุรกิจที่ดำเนินตามวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมุ่งแก้โจทย์ว่า ทำอย่างไร องค์กรจึงจะสามารถสร้างการยอมรับทั้งจากกลุ่มผู้ลงทุนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ด้วยการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย ในทางที่ขจัดหรือลดข้อขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อผู้ลงทุน มีทั้งผลประกอบการทางการเงินอันเป็นที่น่าพอใจต่อผู้ลงทุน และผลประกอบการที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินอันเป็นที่ยอมรับต่อผู้มีส่วนได้เสีย

การนำประเด็น ESG มาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของการวางกลยุทธ์องค์กร สามารถใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT) ที่มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีมุมมองที่กว้างขึ้นสำหรับการจัดทำประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Theme) ที่เอื้อต่อการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

เงื่อนไขประการล่าสุด ที่เป็นเหตุให้ภาคธุรกิจต้องปรับโจทย์ใหม่ คือ ความคาดหวังของสังคมที่เพ่งเล็งไปยังจุดซึ่งแกนของธุรกิจ (Core Business) ต้องสร้างให้เกิดคุณค่าทางสังคมร่วมด้วย นอกเหนือจากการสร้างมูลค่าให้แก่องค์กรเพียงลำพัง (อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล)


จาก CSR สู่ CSV


เนื่องจากความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) มิได้มุ่งแต่ตอบสนอง แก้ไข หรือเยียวยาเฉพาะผลกระทบ “เชิงลบ” ที่เกิดจากการประกอบการเท่านั้น แต่กิจการต้องสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีในธุรกิจ ส่งมอบคุณค่าหรือผลกระทบ “เชิงบวก” ให้แก่สังคม ควบคู่ไปพร้อมกันกับคุณค่าที่องค์กรได้รับ

พัฒนาการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อแนวคิดดังกล่าว คือ ความพยายามในการสร้างกิจการรูปแบบใหม่ ที่มีหลายชื่อเรียก อาทิ Benefit Corporation, Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของกิจการที่ในบ้านเรา เรียกว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise

แม้กิจการรูปแบบใหม่ดังกล่าว จะเป็นความหวังในการส่งมอบคุณค่าหลักทางสังคม (โดยตัวกิจการเอง สามารถปันผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้นได้) แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่สามารถสร้างให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจำนวนและโมเมนตัมของกิจการประเภทดังกล่าว ยังไม่มากพอถึงขีดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และยังส่งผลไปถึงความจำกัดของตัวเลือกสำหรับการลงทุนที่รับผิดชอบ ที่ทำให้ปริมาณเม็ดเงินลงทุนสำหรับสนับสนุนกิจการประเภทนี้ ไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่ควร (วิสาหกิจเพื่อสังคม ต้องพิสูจน์ความสำเร็จของโมเดลธุรกิจหรือความอยู่รอดของกิจการ ไม่ต่างจากวิสาหกิจทั่วไป ยังไม่ต้องนับว่า ได้สร้างคุณค่าทางสังคมมากน้อยเพียงใด เพราะหากวิสาหกิจนั้น ไม่สามารถอยู่รอด คุณค่าทางสังคมที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของการส่งมอบ ก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน)

ด้วยเหตุนี้ จุดสนใจในปัจจุบัน จึงอยู่ที่การผลักดันให้วิสาหกิจทั่วไปหรือธุรกิจปกติ สร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value - CSV) ระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เป็นแกนของธุรกิจนั้นๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง ซึ่งต่างจากเรื่อง CSR ที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่คำนึงว่าเรื่องและประเด็นเหล่านั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม

ธุรกิจที่ดำเนินตามวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมุ่งแก้โจทย์ว่า ทำอย่างไร องค์กรจึงจะสามารถนำประเด็นปัญหาทางสังคมที่รอการแก้ไขหรือที่อยู่ในความสนใจขององค์กร ภายใต้บริบทของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่เป็นแกนธุรกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อองค์กรสามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจนั้นได้ ก็เท่ากับว่า สามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมนั้นได้ไปในตัว เกิดเป็นคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน

ในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ภาคธุรกิจ สามารถมีส่วนร่วมในการเริ่มต้นศักราชแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเลือกตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 17 ข้อ ได้ตามที่องค์กรเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

สวัสดีปีใหม่ครับ!

จากบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: