Thursday, May 12, 2016

Global Child Forum: เวทีเด็ก ที่ไม่เด็ก

สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 5 พ.ค.) ผมมีโอกาสได้เดินทางเข้าร่วมงาน Global Child Forum ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีผู้เข้าร่วมงานจาก 26 ประเทศ รวมกว่า 250 คน

Global Child Forum เป็นแพลตฟอร์มระดับนานาชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเวทีในการปรึกษาหารือ ชี้นำความคิด และผลักดันเรื่องสิทธิเด็กในทางที่สนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก โดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบัน ยกเว้นสหรัฐอเมริกา

เวที Global Child Forum ทรงริเริ่มโดยสมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เมื่อปี พ.ศ.2552 มีเวทีฟอรั่มประจำปีซึ่งจัดขึ้น ณ พระราชวัง กรุงสตอกโฮล์ม มาแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งได้ทรงริเริ่มจัดเวทีในระดับภูมิภาคครั้งแรก ณ นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี พ.ศ.2557 ครั้งที่สอง ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในปี พ.ศ.2558 และล่าสุด ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จและทรงประทับอยู่ร่วมงานตลอดกำหนดการ

งานครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “Mobility & Connectivity: Children’s Rights and Sustainable Business” โดยแบ่งเป็นการอภิปรายหลัก (Plenary Panels) 2 ช่วง และการหารือเชิงปฏิบัติการ (ActionLabs) 4 ห้องย่อย


ช่วงการอภิปรายหลักในหัวข้อสิทธิเด็กและธุรกิจยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ผมได้มีโอกาสนำเสนอความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะความริเริ่มที่สถาบันไทยพัฒน์และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคธุรกิจกว่า 30 องค์กร สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก ภายใต้หลักการแห่งสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles: CRBP) ในโครงการ Child-Friendly Business (ดูข้อมูล 30 องค์กรธุรกิจที่ร่วมให้คำมั่นได้ที่ http://childfriendly.biz)

ตัวอย่างของภาคธุรกิจในไทย ที่ผมได้มีโอกาสนำเสนอบนเวที เป็นความริเริ่มของ บมจ.แสนสิริ ที่คำนึงถึงการจัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กสำหรับลูกหลานแรงงานในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในไซต์ก่อสร้าง และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้และเล่นอย่างสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานหลักทางธุรกิจ (Core Business) ของกิจการ (ดาวน์โหลดคู่มือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในสถานก่อสร้างได้ที่ http://bit.ly/ChildFriendlySpace)

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นความริเริ่มของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ที่คำนึงถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ปลอดจากการคุกคามผ่านสื่อออนไลน์ (Cyberbullying) ผ่านทางโครงการ Safe Internet ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กไทย โดยโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบายทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเทเลนอร์กรุ๊ปที่ดำเนินงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/DtacSafeInternet)

ช่วงการหารือเชิงปฏิบัติการ ผมได้เข้าร่วมห้องย่อยที่มีการพูดคุยในหัวข้อ The Children’s Rights and Business Atlas: A tool for responsible business ซึ่งได้มีการนำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นล่าสุดสำหรับภาคธุรกิจโดยความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ และ Global Child Forum เพื่อใช้ในการระบุ (Identify) จัดลำดับความสำคัญ (Prioritise) และบริหารจัดการ (Manage) ความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กจำแนกตามรายอุตสาหกรรม (ข้อมูลเพิ่มเติมของเครื่องมือนี้ ศึกษาได้ที่ http://www.childrensrightsatlas.org)

ที่น่าสนใจ คือ บริษัทประเมินอย่าง RobecoSAM ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการประเมินดัชนีความยั่งยืนให้แก่ S&P Dow Jones ได้ใช้ข้อมูลนำเข้าจาก Global Child Forum Benchmark มาช่วยในการคัดเลือกและจัดอันดับบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิเด็ก จำนวน 40-80 บริษัท ไว้ในพอร์ตการลงทุนที่เรียกว่า Global Child Impact Equities สำหรับผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักความสำคัญในเรื่องสิทธิเด็กด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/GCI-Equities)

ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำเครื่องมือดังกล่าว มาแนะนำให้ภาคธุรกิจเป้าหมายจำนวน 60 องค์กร ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการประเมินผลการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก รวมทั้งการค้นหาโอกาสในการสนับสนุนสิทธิเด็กตามหลักปฏิบัติทางธุรกิจ ตลอดจนขอบเขตการปฏิบัติงานที่บริษัทสามารถนำสิทธิเด็กไปผสมผสานเข้ากับนโยบายทางธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการองค์กร ในโครงการ Child-Friendly Business ที่กำลังดำเนินการอยู่ระหว่างนี้ด้วย

หนึ่งในข้อสรุปจากเวทีครั้งนี้ คือ การปลุกเร้าให้ภาคธุรกิจในประชาคมอาเซียนพัฒนารูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ที่ให้ความสำคัญต่อเด็ก ซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้กระบวนงานหลักทางธุรกิจ

ในงานนี้ ผมจบการนำเสนอในช่วงการอภิปรายหลัก ด้วยประโยคที่ว่า “สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของทุกธุรกิจ” (Children Rights are one element of every business)

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: