Saturday, November 07, 2020

ชนะการลงทุนช่วงโควิด ด้วย ESG

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก นับตั้งแต่ต้นปี 63 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กันอย่างถ้วนทั่ว มูลค่าสินทรัพย์ของบรรดาผู้ลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนกระจายอยู่ในหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารทุน ล้วนมีมูลค่าที่ลดลงอย่างน่าใจหาย

แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น คือ สำหรับผู้ลงทุนที่ใช้นโยบายการลงทุนโดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้กระแสเรื่อง ESG ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเพิ่มเติมจากเดิม

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบราคาดัชนี MSCI ระหว่างดัชนีทั่วไปกับดัชนีที่คำนึงถึง ESG ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในรายงาน OECD Business and Finance Outlook 2020 ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยใช้ดัชนี ACWI เป็นฐานในการเปรียบเทียบ (กำหนดค่าดัชนีฐานที่ 100 จุด)

ACWI (All Country World Index) เป็นดัชนีที่จัดทำโดยบริษัท มอร์แกน สแตนเลย์ แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล (MSCI) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ในตลาดทุนทั่วโลกราว 3,000 หลักทรัพย์ ทั้งจากประเทศที่พัฒนาแล้ว 23 แห่ง และจากตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) 26 แห่ง สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน (Benchmark Index) และใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับการลงทุน (Investable Index) ที่สะท้อนผลตอบแทนของตลาดทุนโลก

ผลการวิเคราะห์ พบว่า ดัชนี MSCI ที่คำนึงถึง ESG ทุกดัชนี มีผลตอบแทนที่ลดลง ในอัตราที่ต่ำกว่าดัชนีมาตรฐาน ACWI

มีเพียงดัชนี ACWI Minimum Volatility ที่สามารถชนะดัชนี ESG อยู่จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นเพราะผู้ลงทุนใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงการลงทุน (Hedge) ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนในผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ขยายวงจากสถานการณ์โควิด-19

ข้อมูลนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า การลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ในสภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง จะมีความผันผวนต่ำกว่าความผันผวนของตลาดโดยรวม ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับตลาดทุนไทย

โดยผลกระทบที่มีต่อตลาดทุนไทย เมื่อพิจารณาด้วยดัชนีผลตอบแทนรวม SET TRI ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนภาพรวมของตลาดทุนไทย สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้อัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ติดลบอยู่ที่ -18.3% ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในระดับที่ต่ำกว่า คือ -11.48% (ข้อมูล ณ 5 พ.ย. 63) หรือมีความผันผวนที่ต่างกันอยู่ 6.82%

แต่หากดูผลตอบแทนระยะยาวของดัชนีผลตอบแทนรวม Thaipat ESG Index TR พบว่า ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี จะอยู่ที่ 4.02% คือ ยังมีผลตอบแทนที่เป็นบวก แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อตอนต้นปี 63

จะเห็นว่า การลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ในสภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนสูง นอกจากจะช่วยลดความผันผวนด้านราคา (Beta) ของหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนแล้ว ยังช่วยสร้างผลตอบแทน (Alpha) ที่แข็งแกร่งให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาวด้วย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: