Saturday, August 28, 2021

ทำ CSR ที่ไหนดี

แม้เรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วสำหรับองค์กรธุรกิจในยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังเกิดข้อคำถามอยู่เป็นระยะๆ จากองค์กรหน้าใหม่ที่อยากเห็นผลของการทำ CSR อย่างจริงจัง และกระทั่งจากองค์กรเดิมที่ผู้บริหารหรือผู้ดูแล CSR เก่าเกษียณ และมีผู้เข้ามารับช่วงต่อหรือดูแลแทน ที่ปะติดปะต่อเรื่องได้ไม่แตกฉาน สงสัยว่า จะทำ CSR ที่ไหนดี

บ่อยครั้ง ผู้รับผิดชอบเรื่อง CSR ที่มิได้ศึกษาเนื้อหาถ่องแท้ พอหยิบคำว่า CSR มาพิจารณา เห็นมีคำว่า ‘สังคม’ อยู่ในศัพท์ เลยพลันชี้นิ้วออกไปข้างนอกองค์กร ตามความคุ้นชินว่า สังคม คือ ชุมชน คือ ชาวบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เลยกลายเป็นกับดักขององค์กรหน้าใหม่หรือผู้ดูแลคนใหม่ ในการตั้งโจทย์ให้ CSR เท่ากับการออกไปช่วยเหลือชุมชน หรือไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน

อันที่จริง การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของเรื่อง CSR ถ้าเอาตามมาตรฐาน ISO26000 ที่ว่าด้วยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นเพียงหนึ่งในเจ็ดหัวเรื่องหลัก (Core Subjects) ที่ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แสดงว่า ยังมีอีกถึงหกเรื่องหลักที่องค์กรควรดำเนินการเช่นกัน

ต้องเข้าใจว่า สังคม ในบริบทของ CSR ประกอบด้วย สังคมภายในองค์กร (ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ฯ) และสังคมภายนอกองค์กร ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ สังคมใกล้ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง (ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบการ หน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระที่เป็นผู้กำกับดูแล ฯ) และสังคมไกล หรือผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง (คู่แข่งขันทางธุรกิจ หน่วยราชการในท้องที่ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ฯ)

ฉะนั้น หากผู้ที่ดูแล CSR ยังยืนยันว่าเรื่อง CSR ต้องทำที่ สังคม ก็ต้องเรียนว่า ขอบเขตของการดำเนินการ จำเป็นต้องหยิบยกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นสังคมภายในองค์กรและสังคมภายนอกองค์กร หรือเรียกว่าเป็น ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของกิจการมาพิจารณาอย่างครอบคลุมรอบด้าน

นี่จึงเป็นที่มาว่า CSR ตามมาตรฐาน ISO26000 ในอีกหกเรื่องหลัก ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม และประเด็นด้านผู้บริโภค เกี่ยวข้องกับการพิจารณาดำเนินการกับเหล่าผู้มีส่วนได้เสียของกิจการนั่นเอง

ในทางปฏิบัติ ผู้ดูแลงาน CSR หลายองค์กร มักถูกกำหนดบทบาทการทำงานให้จำกัดอยู่ที่การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เนื่องเพราะเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูง เข้าใจผิดว่า โจทย์งาน CSR เท่ากับการออกไปช่วยเหลือชุมชน ทำให้การดำเนินงาน CSR ขององค์กรไปไม่ถึงไหน หรือหาความยั่งยืนไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงในเรื่องขอบเขตงาน CSR จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการมอบหมายงานและขับเคลื่อนเรื่อง CSR ให้ประสบผลสำเร็จ

เมื่อองค์กรทราบขอบเขตของงาน CSR ตามที่ควรจะเป็นแล้ว ข้อคำถามที่ว่า จะทำ CSR ที่ไหนดี ผู้ดูแลงาน CSR จะพบกับคำตอบว่า ก็ควรเริ่มจากที่ซึ่งมีผลกระทบเกิดขึ้นจากการประกอบการ (หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ)

ผลกระทบ ในที่นี้ เป็นได้ทั้ง ด้านบวก-ด้านลบ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน-ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทางตรง-ทางอ้อม ระยะสั้น-ระยะยาว โดยเจตนา-โดยไม่เจตนา และสามารถเกิดขึ้นทั้งในองค์กรและนอกองค์กรหรือทั้งสองกรณี

ความสามารถในการระบุพิกัด (Where) หรือบริเวณที่ผลกระทบเกิดขึ้น (หรือคาดว่าจะเกิดขึ้น) เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ เป็นกลไกที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR สัมฤทธิ์ผล ภายใต้เงื่อนไขของงบประมาณ ข้อจำกัดทางทรัพยากร และระยะเวลาที่ใช้สำหรับดำเนินการ เพราะองค์กรไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่สามารถทำให้ถูกเรื่องได้

เมื่อองค์กรรู้ชัดว่า ควรทำ CSR ที่ไหน ได้อย่างตรงจุด ก็หมายความว่า ขอบเขตการดำเนินงานทางสังคมได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้รับการตอบสนอง ผลกระทบจากการประกอบการที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียได้รับการจัดการหรือดูแลแก้ไข ปัญหาเรื่องความยั่งยืนที่องค์กรเพรียกหา ก็จะหมดไปโดยปริยาย


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: