Saturday, April 09, 2022

บอกผู้คนและโลกอย่างไร ว่าองค์กรเรายั่งยืน

ทุกๆ กิจการในวันนี้ ต่างก็พยายามขับเคลื่อนและสื่อสารเรื่องความยั่งยืนให้สังคมได้รับทราบ แต่การที่สังคมจะรับสารที่องค์กรสื่อ ได้ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่นั้น นอกจากความสามารถในการสื่อสารแล้ว ตัวสารเอง จะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสื่อสาร และเป็นความท้าทายของทุกกิจการ ที่มักประสบกับคำถามที่ว่า แล้วเนื้อหาที่จะสื่อสารออกไปมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร

ในที่นี้ เมื่อเราพูดถึงความยั่งยืนของกิจการ จะหมายถึง การดำเนินงานหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เป็นการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจที่ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

และในวิถีของธุรกิจ ปัจจัยความยั่งยืนที่ว่านั้น จะต้องส่งผลใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การเติบโตของรายได้ จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา 2) การประหยัดต้นทุน จากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน และ 3) การจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ

ในแง่ของการเติบโต (Growth) เนื้อหาที่ควรพิจารณานำมาสื่อสาร คือ การจำแนกประเภทรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ประโยชน์จากความยั่งยืน เช่น ธุรกิจยานยนต์ อาจจะมีการแยกหมวดรายได้จากยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปกับรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจประกอบชิ้นส่วนหรืออะไหล่รถยนต์ อาจมีการแยกยอดจำหน่ายชิ้นส่วนหรืออะไหล่ระหว่างรถยนต์ทั่วไปกับรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจอาหารที่แปรรูปจากผลิตผลทางการเกษตร อาจมีการจัดหมวดรายได้แยกระหว่างอาหารที่มาจากวัตถุดิบทั่วไปกับวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิก ธุรกิจการเงินการลงทุน อาจมีการแบ่งประเภทรายได้จากการลงทุนในแบบทั่วไปกับการลงทุนที่ยั่งยืน หรือการปล่อยสินเชื่อปกติกับสินเชื่อเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค อาจจัดประเภทรายได้ที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกับการใช้พลังงานทางเลือก ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง อาจมีการจำแนกรายได้ที่มาจากสายผลิตภัณฑ์ปกติกับสายผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เป็นต้น

ทั้งนี้ กิจการแต่ละแห่ง สามารถกำหนดวิธีการจำแนกประเภทตามบริบทการดำเนินงานขององค์กรและระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนของตน โดยคำนึงถึงแนวโน้มและอุปสงค์ของตลาด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาสำหรับการตอบสนองต่อการเติบโตของรายได้จากการใช้ประโยชน์จากความยั่งยืน

การพิจารณาเรื่องการเติบโต มีความเหมาะสมกับกิจการที่มีหลายสายหรือหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่เปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยน (Transition) ผลิตภัณฑ์เดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์อันมีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยมีตัววัดด้านการเติบโตของรายได้ เป็นหลักกิโลที่บ่งบอกถึงความคืบหน้าในขนาด (Scale) และฝีก้าว (Pace) ของการปรับเปลี่ยน

สำหรับกิจการที่ได้พัฒนามาถึงจุดที่ผลิตภัณฑ์และบริการส่วนใหญ่หรือทั้งหมดตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนแล้ว การวิเคราะห์ดังกล่าว จะช่วยในการระบุปัจจัยเพิ่มเติมอื่นๆ ที่มีต่อการเติบโตของรายได้ อาทิ ความสำเร็จของแผนงานขององค์กรหรือแผนงานที่องค์กรให้การสนับสนุน ในการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด หรือการเข้าถึงตลาด/กลุ่มเป้าหมายที่ยังมิได้รับการตอบสนอง ด้วยตัววัดอย่างเช่น ร้อยละของรายรับที่มาจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินกลุยทธ์การเติบโตโดยรวมของกิจการเช่นกัน

ในแง่ของการประเมินผลิตภาพ (Productivity) จำต้องอาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากหลายฝ่ายทั่วทั้งองค์กร มิใช่ตัวเลขของการประหยัดต้นทุนจากโครงการใดโครงการหนึ่ง ผู้ลงทุนไม่อาจประเมินขนาดหรือขอบเขตจากตัวเลขโครงการ และอนุมานว่า คือ กลยุทธ์องค์กรที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการปรับปรุงโครงสร้างต้นทุน ความท้าทายหลักของกิจการอยู่ที่ความสามารถในการระบุรายการดำเนินการที่สอดคล้องกับที่ผู้ลงทุนใช้ในการวิเคราะห์ประเด็นโครงสร้างต้นทุน รวมทั้งการตอบคำถามถึงค่าใช้จ่ายที่กิจการลดได้เมื่อพิจารณาผลลัพธ์รวมจากแผนงานหรือความริเริ่มด้านความยั่งยืนในรอบปี

กิจการสามารถนำระบบงานการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) มาช่วยในการรวบรวมข้อมูลต้นทุนที่ประหยัดได้ทั่วทั้งองค์กร และใช้ช่วยฝ่ายบริหารในการปรับปรุงผลิตภาพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้ลงทุนจะสนใจตัวเลขอย่างเช่น ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ของบริษัทที่เข้าลงทุน แต่ปัจจัยอย่างเช่น การจัดหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถให้คงอยู่กับองค์กร อาจมิใช่ปัจจัยที่เป็นประเด็นสาระสำคัญ (Material) ที่ส่งผลโดยตรง หรืออีกนัยหนึ่ง ถูกจัดว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางอ้อม ซึ่งยากต่อการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นในบรรทัดสุดท้ายของกิจการ

ในแง่ของการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ความท้าทายของการสื่อสาร คือ การเลือกรายการความเสี่ยงที่ถูกคัดกรองจากบรรดาความเสี่ยงที่สำคัญๆ ทั้งหมดของกิจการ ซึ่งอาจมีจำนวนมาก ให้เหลือเฉพาะรายการที่จำเป็นต้องติดตามและรายงาน โดยอาศัยเกณฑ์ระดับความวิกฤต ความควรจะเป็น และความมีนัยสำคัญที่เป็นได้ ขณะที่ผู้ลงทุนจะให้น้ำหนักของการจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ในบริบทที่ความเสี่ยงนั้นมีศักยภาพในการส่งผลกระทบต่อรายได้ ความสามารถในการทำกำไร และ/หรือชื่อเสียงที่ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อมายังบรรทัดแรก (ยอดขาย) และบรรทัดสุดท้าย (กำไร) ของกิจการ

ข้อพิจารณาสำหรับความเสี่ยงที่เป็นประเด็นเฉพาะ อาทิ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน กิจการอาจจำเป็นต้องนำแนวทางหรือมาตรฐานเฉพาะเรื่อง เช่น หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ที่ให้เกณฑ์ระดับความรุนแรงของผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยการพิจารณาขนาด (น้ำหนักผลกระทบ) ขอบเขต (จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ) และสภาพความเสียหายซึ่งไม่อาจเยียวยาได้ เป็นต้น

แนวโน้มของโลกที่ให้ความสนใจต่อประเด็นความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันจากกฎระเบียบ ทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นจากนี้ไป การหยิบฉวยโอกาสของกิจการ สามารถทำได้โดยการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้ประเด็นความยั่งยืนทั้งที่ดำเนินการอยู่และที่เห็นโอกาสในการดำเนินการ พร้อมทั้งสื่อสารสู่ภายนอกในภาษาที่บุคคลทั่วไปและผู้ลงทุนเข้าใจได้ง่าย และหากกิจการสามารถสื่อสารถึงข้อได้เปรียบจากการดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวโน้มที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนย่อมให้คุณค่าส่วนเพิ่ม (Premium) แก่กิจการที่นำล้ำหน้ากิจการอื่น ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: