Saturday, December 31, 2022

3 ธีม ขับเคลื่อน ESG ประเทศไทย ปี 2566 (2)

สังคมไทย กำลังเผชิญกับความเสื่อมถอยทางจริยธรรมในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน การรับสินบนและการทุจริตเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทุกระดับ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อีกทั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามต้องเผชิญกับการขาดความเป็นอิสระและได้รับอิทธิพลแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งการสมรู้ระหว่างฝั่งผู้ที่ถูกกล่าวหากับฝั่งผู้ที่มีอำนาจเหนือหน่วยงาน เพื่อร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริง และขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง

ตัวอย่างในภาคธุรกิจ มีกรณีกลุ่มทุนจีนสีเทา การฉ้อโกงกรณีแชร์ลูกโซ่และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในภาคการเมือง มีกรณีการจ้างหรือซื้อตัว ส.ส. ในการลงมติ ในภาคราชการ มีกรณีเรียกเงินวิ่งเต้นตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับอธิบดี ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่วิญญูชนสามารถรับรู้ได้


CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ
ในการสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า คะแนนด้านธรรมาภิบาลของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 แห่ง อยู่ที่ 3.92 คะแนน จาก 10 คะแนน โดยประเด็นที่มีการเปิดเผยข้อมูลน้อยสุด ได้แก่ สภาพการจ้าง (Collective Bargaining) การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (External Assurance) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ตามลำดับ

และจากข้อมูลดัชนีการปริวรรตเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Transformation Index: BTI) ที่บ่งชี้ถึงสถานะการพัฒนาและธรรมาภิบาลของประเทศกำลังพัฒนาต่อกระบวนการปริวรรตเศรษฐกิจและการเมืองใน 137 ประเทศ ซึ่งจัดทำมาตั้งแต่ปี 2546 เผยแพร่ประจำทุกสองปี พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีคะแนนด้านธรรมาภิบาลอยู่ที่ 4.02 จาก 10 คะแนน ซึ่งพิจารณาจาก 5 เกณฑ์ ได้แก่ ระดับความยากลำบาก สมรรถนะการอำนวยการ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การสร้างฉันทามติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยดัชนีธรรมาภิบาลของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 92 จาก 137 ประเทศ

ขณะที่ ข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่ 110 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ปีล่าสุด (พ.ศ.2564) ได้ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยทั้งระดับคะแนนและอันดับของประเทศไทยลดต่ำลงเรื่อยมาตลอดระยะ 5 ปี และยังเป็นคะแนนและอันดับในระดับที่ตกต่ำสุดของประเทศในรอบ 10 ปี

ในส่วนของภาคเอกชน มูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเอง อาจสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่า และมีความยากต่อการตรวจสอบเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ไม่สามารถเก็บตัวเลขได้แน่ชัด ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าใด ต้นทุนการทุจริตจะถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการ ที่ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า และยังไปบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจด้วย

ในการต้านทุจริตให้เกิดผล องค์กรธุรกิจต้องเข้าใจถึงช่องทางที่ตัวธุรกิจและวิธีดำเนินการของธุรกิจในจุดที่อาจเกิดการทุจริตขึ้น ซึ่งการประเมินความเสี่ยง จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดระดับของนโยบายที่ใช้ดำเนินการต่อต้านการทุจริตที่เหมาะสมกับกิจการ

การประเมินความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำแผนงานต่อต้านการทุจริตขององค์กร โดยใช้หลักที่ว่า “เสี่ยง” ที่ใด “ต้าน” ที่นั่น ซึ่งเริ่มจากการพิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตจากลักษณะกิจกรรมทางธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน สภาพอุตสาหกรรม เงื่อนไขทางธุรกิจและธรรมเนียมปฏิบัติในท้องถิ่น จากนั้นดำเนินการระบุโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ขนาดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และที่สำคัญ คือ แนวทางในการลดความเสี่ยงและมาตรการในการป้องกันหรือต่อต้านการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลชุดหลังนี้ คือ ข้อมูลสำหรับใช้จัดทำนโยบายเพื่อระบุการดำเนินงานของกิจการ

สำหรับแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กระบวนงานหลัก ได้แก่ การให้คำมั่น (Commit) ประกอบด้วย การเปิดเผยคำมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดทำแนวนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและการดำเนินการให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร

การลงมือทำ (Establish) ประกอบด้วย การกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ระบุระดับการดำเนินการของบริษัท การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ เพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดทำนโยบายละเอียดสำหรับส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการเกิดทุจริต การสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงานในทุกระดับ การสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส และกลไกการติดตามสำหรับการรายงานข้อกังวลหรือขอรับคำแนะนำ การวางกระบวนการดูแลติดตามและประเมินผลการต่อต้านการทุจริต การทบทวนผลการดำเนินการและการปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์

การขยายวง (Extend) ประกอบด้วย การจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ การผลักดันให้คู่ค้าดำเนินการตามคำมั่น การเข้าเป็นแนวร่วมต้านทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่หรือเรื่องที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก

การทุจริตเปรียบเหมือนโรคระบาดที่ติดต่อกันง่าย สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในองค์กรที่มีการป้องกันอย่างรัดกุม เนื่องจากผู้ก่อเหตุจะมีการพัฒนาเทคนิคการทุจริตใหม่ๆ ตลอดเวลา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามกรณีทุจริตอย่างรอบด้าน มีความทันสมัยและทันต่อเหตุทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ ความเสียหายทางสังคมทั้งในเชิงกายภาพที่กระทบกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่จากโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคหรือบริการที่ไม่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและไม่ทั่วถึงแล้ว การทุจริตยังส่งผลถึงความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุจากการยักยอกและเบียดบังรายได้และงบประมาณแผ่นดินในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ที่เกิดขึ้นจากการเรียกเงินวิ่งเต้นตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอนุรักษ์ การคุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังกรณีที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้

ในปี 2566 ภาคเอกชนที่มีกรอบการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน จำต้องเป็นผู้ริเริ่มลงมือดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังด้วย “ตนเอง” มากกว่าการบอกให้ “ผู้อื่น” ดำเนินการ จวบจนสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ลงมือปฏิบัติตามในที่สุด

ในบทความตอนหน้า จะพูดถึงแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ในธีม GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา โดยสามารถติดตามได้ทางคอลัมน์ Sustainpreneur แห่งนี้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: