10 Questions: พุทธธรรม เศรษฐศาสตร์ และ CSR

หลายคนเบื่อคำว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างภาพเพื่อผลทางธุรกิจ แต่ถ้าคุณทำงานขลุกอยู่กับคำๆ นี้ มาตลอดทศวรรษ เหมือนกับ พิพัฒน์ ยอดพฤติการ คุณจะเข้าใจและเปิดใจรับฟังมันมากขึ้น

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ คือผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการทำ CSR ขององค์กรต่างๆ มากมาย เขาก่อตั้งสถาบันไทยพัฒน์ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำ CSR หรืออาจบอกได้ว่า เขาคือผู้ที่ทำให้กิจกรรม CSR เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญกับวงการธุรกิจมากขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เขายังมีความน่าสนใจอีกหลากหลายด้าน จึงทำให้ GM เลือกเขามาเป็นคู่สนทนา 10 ข้อคำถามในครั้งนี้ (อ่านต่อ...)

Saturday, April 05, 2025

รู้ทันนโยบายภาษีทรัมป์ ?

การลงนามคำสั่งของฝ่ายบริหารโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อการใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) เพื่อหวังจะลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.2 ล้านล้านเหรียญ (ตัวเลขปี ค.ศ. 2024) ได้สร้างความกังวลให้กับประเทศคู่ค้าที่มีตัวเลขการค้าเกินดุล รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขการค้าเกินดุลอยู่ในอันดับ 8 ที่จำนวน 4.56 หมื่นล้านเหรียญ (คิดเป็น 3.8% ของยอดขาดดุลรวมของสหรัฐฯ)


สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ 36% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

ตัวเลขดังกล่าวมาจาก การนำยอดขาดดุลการค้ากับไทย (4.56 หมื่นล้านเหรียญ) หารด้วยยอดนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งหมด (6.33 หมื่นล้านเหรียญ) ซึ่งเท่ากับ 72% และ สหรัฐฯ เรียกเก็บครึ่งเดียว จึงเท่ากับ 36%

ตามข่าว มีการประเมินว่า ไทยจะมีมูลค่าความเสียหายอยู่ราว 8 แสนล้านบาท (ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขจริง) ตัวเลขนี้น่าจะมาจากการนำยอดส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ (6.33 หมื่นล้านเหรียญ) คูณกับอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนที่สหรัฐฯ จะจัดเก็บ (ในอัตรา 36%)

ในความเป็นจริง อัตราภาษี 36% เป็นภาษีนำเข้า เรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าจากไทย (ซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ) มิได้เก็บจากผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ส่งออก หมายความว่า เดิมสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีราคา 100 บาท ภายใต้นโยบายภาษีต่างตอบแทนนี้ รัฐบาลทรัมป์จะได้ค่าภาษี 36 บาท เพื่อชดเชยการขาดดุล ขณะที่ผู้นำเข้าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 36 บาท และจะผลักต้นทุนนี้ไปยังผู้ซื้อหรือผู้บริโภค ทำให้สินค้าไทยที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้น (ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของรัฐบาลทรัมป์ ที่ต้องการให้สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ มีราคาที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้า)

แต่ในหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่องอุปสงค์-อุปทาน ความต้องการซื้อสินค้า มิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นที่ใช้ตัดสินใจซื้อ อาทิ คุณภาพ ความชอบ หรือตราสินค้า ดังนั้น การเก็บภาษีต่างตอบแทน มิได้เป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้านำเข้าขายไม่ได้เลย และที่สำคัญผู้ซื้อหรือผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่างหากที่เป็นผู้จ่ายภาษีดังกล่าวให้รัฐบาลตนเอง (กรณีนี้ ผู้ประกอบการไทยยังส่งออกสินค้าได้ไม่ต่างจากเดิม เพราะอุปสงค์ยังคงอยู่)

ยิ่งถ้าเป็นสินค้าขั้นกลางหรือเป็นวัสดุชิ้นส่วนเพื่อใช้ประกอบการผลิต ที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูป (finished goods) ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมเรื่องสายการผลิตและการปรับแต่งกรรมวิธีการผลิต หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้ส่งมอบที่มิใช่ผู้นำเข้าสินค้ารายเดิม

ผลที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่ง หากสินค้าโดยรวม ยกแผงกันขยับราคาขึ้น (โดยผู้ผลิตในสหรัฐฯ ร่วมวงขึ้นด้วย เพราะธุรกิจย่อมแสวงหากำไรเพิ่มเท่าที่ทำได้) ในขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเท่าเดิม จะกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น แม้จะมิได้มีการพิมพ์เงินใหม่เติมเข้าในระบบเศรษฐกิจก็ตาม

ใช่ว่ารัฐบาลทรัมป์จะไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้ จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า การประกาศใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน จุดประสงค์ที่แท้จริง คือ ต้องการให้แต่ละประเทศคู่ค้าเข้ามาเจรจาเพื่อปรับสมดุลทางการค้าระหว่างกัน โดย 1) เสนอซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมให้เท่าหรือใกล้เคียงกับยอดที่สหรัฐฯ ขาดดุลอยู่ และ 2) เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการไม่ถูกเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนดังกล่าว (รัฐบาลทรัมป์เองก็ไม่อยากให้พลเมืองของตนเป็นผู้จ่าย)

ทั้งการซื้อเพิ่มและการลงทุนใหม่จากประเทศคู่ค้า เป็นกลวิธีที่สหรัฐฯ ใช้ลดการขาดดุลการค้าของจริง มิใช่ภาษีต่างตอบแทน ที่สหรัฐฯ นำมาใช้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับเปิดการเจรจา (ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่า จะมีหลายประเทศ ยอมดำเนินตาม)

นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดที่สอดรับกับการใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน คือ การจัดตั้งหน่วยงานสรรพากรเพื่อจัดเก็บรายได้จากนอกประเทศ (External Revenue Service: ERS) ซึ่งมาจากจุดที่ว่า ไม่เพียงแต่ขนาดจีดีพีของประเทศที่ 29 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งใหญ่สุดในโลก สหรัฐฯ ยังมีมูลค่าการบริโภคสูงถึง 20 ล้านล้านเหรียญต่อปี เป็นผู้ซื้อใหญ่สุดในโลก ฉะนั้น ประเทศใดที่ต้องการขายสินค้าให้สหรัฐฯ จากนี้ไป ต้องสมัครเป็นประเทศสมาชิกคู่ค้า และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิก (membership fee) โดยจะมอบหมายให้หน่วยงาน ERS เป็นผู้จัดเก็บ

วิธีนี้ เป็นการลบข้อจำกัดของนโยบายภาษีต่างตอบแทนที่โดยโครงสร้างแล้ว ผู้ซื้อในประเทศเป็นผู้จ่ายภาษี แต่เมื่อเป็นค่าธรรมเนียมสมาชิก ตามการออกแบบ ผู้ขายนอกประเทศจะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งโดยหลักการ (ที่คาดว่าจะให้รัฐบาลประเทศสมาชิกเป็นผู้จ่าย) จะไม่ทำให้ต้นทุนสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น เหมือนในกรณีของภาษีต่างตอบแทน

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องเรียกเก็บค่าสมาชิกจากกลุ่มผู้ส่งออกสินค้า เพราะไม่ต้องการนำภาษีประชาชนมาอุดหนุนธุรกิจเฉพาะกลุ่ม ทำให้ท้ายที่สุด ผู้ส่งออกต้องบวกค่าธรรมเนียมสมาชิกเข้าเป็นต้นทุนค่าสินค้าที่ส่งออกอยู่ดี

โดยหากแนวคิดนี้ ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายจริง เราจะได้เห็นการรวมกลุ่มการค้าที่จะมีขนาดใหญ่สุดของโลก จากนานาประเทศที่ไม่ต้องการพึ่งพาค้าขายกับสหรัฐฯ ที่แม้จะเป็นประเทศผู้ซื้อใหญ่สุดในโลกก็จริง แต่ก็มีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของมูลค่าการบริโภคทั้งโลกต่อปี เมื่อคำนวณจากขนาดจีดีพีโลกที่ 110 ล้านล้านเหรียญ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]